Friday, 29 March 2024

เหตุใด การซื้อขายหุ้น ไม่ใช่ “Zero-Sum Game”

ในตลาดหุ้นนั้นมีนักลงทุนจำนวนมาก แต่ถ้าเรามองภาพใหญ่จะพบว่า หากแบ่งนักลงทุนออกเป็น 2 กลุ่ม คือคนซื้อและคนขายหุ้น

พอเป็นแบบนี้ หลายคนมักบอกว่า การลงทุนในตลาดหุ้นจะมี “กลุ่มคนที่กำไร” และ “กลุ่มคนที่ขาดทุน” หรือพูดง่าย ๆ ว่า มีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ คือเมื่อเราเอาผลรวมทั้งหมดมารวมกัน แล้วผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะเท่ากับศูนย์

ดังนั้น จึงมีคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า เกมการลงทุนในตลาดหุ้นนั้น เรียกว่าเป็น “Zero-Sum Game”

สรุปแล้วการลงทุนในตลาดหุ้นเป็น Zero-Sum Game จริงหรือไม่ ?

คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับว่าเรามองจากมุมไหน และหุ้นตัวนั้น กิจการมีมูลค่าเท่าเดิมเมื่อเวลาผ่านไปหรือไม่

  • กรณีที่บอกว่า ตลาดหุ้นเป็น Zero-Sum Game

อย่างเช่น ถ้าเราไปลงทุนเก็งกำไรในหุ้น ลองนึกภาพว่า นาย A เห็นหุ้นตัวหนึ่ง ซึ่งกำลังถูกพูดถึงกันเป็นอย่างมาก จึงเข้าไปซื้อหุ้นตัวนี้

ต่อมาราคาหุ้นตัวนี้ เพิ่มจาก 10 บาท เป็น 20 บาท นาย A จึงตัดสินใจขายให้กับนาย B

ต่อมาราคาหุ้นก็ยังพุ่งแรงไปที่ 30 บาท นาย B จึงขายหุ้นให้นาย C ต่อไปอีก แต่หลังจากนั้นราคาหุ้นกลับตกจาก 30 บาท เหลือเพียงแค่ 10 บาท

สรุปแล้ว
นาย A กำไร 10 บาท
นาย B กำไร 10 บาท
นาย C ขาดทุน 20 บาท
ซึ่งจะทำให้เกมนี้ผลลัพธ์ที่ได้จะมีค่าเท่ากับศูนย์

ถ้ามองในกรอบแบบนี้ การลงทุนในตลาดหุ้นจะเป็นแบบ Zero-Sum Game ซึ่งต้องมองในสมมติฐานที่ว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแค่ไหน หุ้นจะมีราคากลับมาเท่าเดิม

แต่ในความเป็นจริงแล้ว มูลค่าหุ้นซึ่งก็คือมูลค่าของกิจการนั้นมันไม่นิ่ง มันมักจะเปลี่ยนไปเสมอ ไม่ว่าในทางที่ดีขึ้น หรือทางที่แย่ลง ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ในกรณีที่มองว่า ตลาดหุ้น ไม่ใช่ Zero-Sum Game

ถ้าเราลงทุนระยะยาวในหุ้นของบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง มีผลประกอบการที่ดี และทำให้ราคาสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยไม่กลับมาที่ราคาเดิม กรณีนี้คนที่ซื้อและขายหุ้นดังกล่าว ก็มีโอกาสที่จะได้กำไรกันทุกฝ่าย โดยที่ไม่ได้มีใครขาดทุน

ตัวอย่างเช่น

ถ้านาย A มาซื้อหุ้นที่ราคา 10 บาท เวลาผ่านไปบริษัทมีกำไรดี ราคาหุ้นจึงเพิ่มขึ้นเป็น 20 บาท

นาย A จึงตัดสินใจขายหุ้นให้นาย B โดยที่บริษัทนี้ก็ยังมีกำไรเติบโตดีอยู่ ราคาหุ้นจึงเพิ่มขึ้นเป็น 30 บาท จึงทำให้นาย B ตัดสินใจขายหุ้นให้นาย C ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ผลประกอบการของบริษัทก็ยังดีต่อเนื่องอีก ราคาหุ้นจึงเพิ่มไปเป็น 40 บาท

สรุปแล้ว
นาย A กำไร 10 บาท
นาย B กำไร 10 บาท
นาย C กำไร 10 บาท

ซึ่งจากกรณีนี้ เราจะเห็นว่า ทุกคนที่เข้ามาลงทุนนั้นได้กำไรกันหมด
ทำให้การลงทุนในหุ้น ภายใต้เหตุการณ์และช่วงเวลานี้ ไม่ได้เป็นลักษณะของ Zero-Sum Game แต่จะถูกจัดเป็น “Positive-Sum Game”

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ในทางตรงข้าม ถ้าบริษัทที่เราไปลงทุนนั้น มีผลประกอบการที่ย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ จนไม่ฟื้นตัวกลับมาอีกเลย ราคาหุ้นจะปรับตัวลดลง จนกลายเป็นศูนย์ได้เช่นกัน

และถ้าทุกคนที่เข้ามาลงทุน ขาดทุนเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งในกรณีนี้ การลงทุนในหุ้นก็จะถูกจัดเป็น “Negative-Sum Game” เพราะทุกคนเสียหายกันหมด

ดังนั้น อ่านมาถึงตรงนี้ ถ้าในอนาคตมีคนมาบอกเราว่า การลงทุนในตลาดหุ้นนั้น เมื่อมีคนที่ได้กำไร แสดงว่ามีคนที่ต้องขาดทุน

เราก็อาจบอกได้ว่า มันก็ไม่จริงเสมอไป เพราะเกมมันมีจุดจบได้หลายทาง ทุกคนอาจกำไรกันทุกฝ่าย หรือแม้แต่ขาดทุนกันทุกฝ่ายก็ได้เช่นเดียวกัน และมันจะเป็นเกมแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับมูลค่าของกิจการในอนาคต นั่นเอง..